ชวนอัปเดตเทคโนโลยี เพื่อทำให้งาน Condition Based Maintenance เป็นเรื่องง่าย ปลดล็อคอุตสาหกรรมไทยสู่ Digital Transformation @ CBM DAY ครั้งที่ 16 by TGI
31/05/2023 06:14:56

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า Condition Based Maintenance หรือการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ เชื่อแน่ว่า บุคลากรที่ทำงานอยู่ในสายงานการผลิตของทุกภาคอุตสาหกรรมต่างคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี และได้ปรับใช้วิธีนี้ไปในงานการบำรุงรักษาเครื่องจักรของโรงงาน เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันนี้องค์ความรู้และเทคโนโลยีต่างๆ เกี่ยวกับศาสตร์ด้านนี้มีการอัปเดตและพัฒนาไปอย่างมาก และเพื่อไม่ให้คนทำงาน ตลอดจนผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมตกเทรนด์ สถาบันไทย-เยอรมัน หรือ TGI จึงได้จัดงานสัมมนาและแสดงเทคโนโลยีการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์หรืองาน “CBM DAY” ซึ่งงานนี้ได้จัดขึ้นทุกปี และปีนี้ได้จัดเป็นครั้งที่ 16 แล้ว

การจัดงาน CBM DAY ที่สถาบันไทย–เยอรมัน จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าภายนอกและผู้เชี่ยวชาญที่ต้องการแบ่งปันความรู้เทคโนโลยีด้านการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ รวมไปถึงบริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจในการผลิตนำเข้าอุปกรณ์ด้านการตรวจสอบสภาพเครื่องจักร ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานด้านการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ของแผนกสร้างความยั่งยืนงานบำรุงรักษา ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ สถาบันไทย–เยอรมัน ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้

โดยในปีนี้ งาน CBM DAY จะจัดขึ้น โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ ในระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2566 และไฮไลต์ของการจัดงานในปี 2566 นี้ สอดคล้องกับธีมงานที่ว่า Keep it Simple ที่รวบรวมทุกเทคโนโลยีล้ำสมัยและองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับงาน Condition Based Maintenance ซึ่งจะทำให้งานบำรุงรักษาสำหรับภาคอุตสาหกรรมเป็นเรื่องง่าย และช่วยเพิ่ม Productivity ในโรงงานได้จริง
และเพื่ออัปเดตความสำคัญของศาสตร์ด้านงาน Condition Based Maintenance หรือการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ วันนี้เรามีบทสัมภาษณ์ สุเมธ อัศวศิลาวสุกุล ผู้จัดการอาวุโส แผนกสร้างความยั่งยืนงานบำรุงรักษา ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ และ ธนบดี แสนวงศ์ ประธานการจัดงาน CBM DAY ครั้งที่ 16 และ วิศวกร แผนกสร้างความยั่งยืนงานบำรุงรักษา ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ที่จะมาบอกเล่าให้ฟังถึงนิยามและการนำเทคนิคในด้าน การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ เพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยไปสู่ Industry 4.0 และ สมชาย จักร์กรีนทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) ที่จะมาสรุปภาพรวมและไฮไลต์สำคัญของการจัดงาน CBM DAY ในปีนี้

สุเมธ อัศวศิลาวสุกุล ผู้จัดการอาวุโส แผนกสร้างความยั่งยืนงานบำรุงรักษา ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์

รู้กันก่อน ความสำคัญของ Condition Based Maintenance ต่อการวางแผนในภาคการผลิตของทุกอุตสาหกรรมในปัจจุบัน

“เพราะทุกอย่างมีอนิจจัง มีความเสื่อมถอยเป็นปกติ คำกล่าวนี้ไม่ได้ใช้กับสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียว ทว่า กับ “เครื่องจักร” ก็ใช้สัจธรรมนี้ได้เช่นกัน”
คุณสุเมธกล่าวในเบื้องต้น เพื่อทำให้เห็นภาพความสำคัญของ “การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์” ในฐานะแนวทางที่นำมาปรับใช้ในงาน Maintenance ของทุกโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อตรวจเช็คสุขภาพของเครื่องจักร ป้องกันเหตุเครื่องหยุดชะงัก หรือ Break down ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียให้กับภาคการผลิตของทุกอุตสาหกรรมได้มหาศาล
“Condition Based Maintenance การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ คือ เทคโนโลยีตรวจเช็ค “ความเสื่อม” ว่าเครื่องจักรนั้นเสื่อมไปถึงไหนแล้ว เสื่อมแบบถึง Functional Fail 100% แล้วหรือยัง เทคโนโลยีนี้จึงเปรียบเสมือน “หมอ” ที่มาตรวจสุขภาพเครื่องจักร โดยมีอาจารย์ท่านหนึ่งใน สถาบันไทย-เยอรมัน เคยพูดไว้ว่า “เครื่องจักรพูดได้นะ แต่ภาษาที่พูดแค่ไม่ใช่ภาษามนุษย์ เท่านั้นเอง” ดังนั้นการเรียนรู้ในเรื่องในเทคนิคด้านนี้ คือ การรู้ว่าเครื่องจักรผิดปกติด้วยสาเหตุอะไร ด้วยการปรับเอาเทคโนโลยีมาใช้”
“โดยหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์ ก็เช่น หลักการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร หรือ Vibration การตรวจน้ำมัน Used Oil Analysis และถ้าเสีย เราก็ต้องวางแผนซ่อมหรือวางแผนสั่งอะไหล่ เพื่อยืดอายุการใช้งานเครื่องจักร และป้องกันไม่ให้เครื่องจักร Break down หรือกระบวนการผลิตหยุดชะงัก ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ทางโรงงานก็จะสูญเสียต้นทุนการผลิตไปมากมาย บางแห่ง นาทีต่อนาทีก็หลายแสน หรือ หลายล้านบาททีเดียว”
ธนบดี แสนวงศ์ ประธานการจัดงาน CBM DAY ครั้งที่ 16 และ วิศวกร แผนกสร้างความยั่งยืนงานบำรุงรักษา ศูนย์เทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์
ด้าน คุณธนบดี ได้กล่าวเสริม โดยยกตัวอย่างเทคนิคต่างๆที่ใช้ในงาน Condition Based Maintenance ที่สำคัญว่ามีดังนี้
  • Used Oil Analysis วิเคราะห์น้ำมัน โดยการนำน้ำมันที่ใช้งานของเครื่องจักรส่งไปตรวจที่แล็ป และผลตรวจ ก็จะบอกว่า น้ำมันมีการเจือปนและบ่งชี้ว่าเครื่องจักรนั้นมีสิ่งผิดปกติหรือไม่
  • Vibration ทดสอบเครื่องจักรโดยการดูสัญญาณการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร ถ้าแรงสั่นนั้นอยู่ในค่ามาตรฐานตาม ISO และไม่มีสัญญาณบ่งชี้ถึงความเสียหาย นั่นแสดงว่าเครื่องจักรยังอยู่ในสภาพดี ใช้งานได้ต่อ
  • Acoustics Emission จะมีเครื่องมือที่นำไปติดที่เครื่องจักร โดยเครื่องมือนี้จะมีเซนเซอร์วัดคลื่นเสียง ถ้ามีเสียงที่ผิดปกติ แสดงว่าเครื่องจักรอาจมีปัญหาในส่วนใดส่วนหนึ่งนั่นเอง
  • IR Thermography ที่ย่อมาจาก Infrared Thermography เป็นการตรวจเครื่องจักรโดยใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนของตัวเครื่องจักร เพื่อวัดอุณหภูมิว่ามีความร้อนสูงเกินค่าที่กำหนดหรือไม่
  • Motor Analysis ตรวจเช็คมอเตอร์ของเครื่องจักรว่ามีความเสียหายหรือไม่ หรืออาจไปตรวจดูเป็นส่วนๆ เช่น ตรวจเช็คขดลวด ที่เป็นตัวแปลงจากพลังงานไฟฟ้ามาเป็นพลังงานกล เป็นต้น

สมชาย จักร์กรีนทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI)

รีวิว ประโยชน์เกินคาดที่ผู้เข้าชมงาน CBM DAY ครั้งที่ 16 จะได้รับ

สำหรับไฮไลต์สำคัญที่ผู้เข้าร่วมงาน CBM DAY ครั้งที่ 16 จะได้รับ คุณสมชาย ผู้อำนวยการ TGI ได้ให้ข้อมูลว่า
“ถ้าเราต้องการเพิ่ม Productivity ให้กับกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม แน่นอนว่าหนึ่งในเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ นั่นคือ การบำรุงรักษาเครื่องจักร เพราะถ้าเราละเลย เดินหน้าการผลิตจนวันหนึ่งเครื่องจักรเสีย นั่นเท่ากับเกิดการ Break down ในกระบวนการผลิต ยิ่งถ้าไม่มีอะไหล่เพื่อเปลี่ยนหรือสามารถซ่อมได้ทันเวลา ย่อมทำให้ภาคการผลิตนั้นสูญเสีย Productivity ในการผลิตก่อให้เกิดผลเสียหายได้มหาศาลอย่างแน่นอน”
“และในยุคปัจจุบันที่เราต้องขับเคลื่อน อุตสาหกรรม 4.0 หรือ ดิจิทัลทรานฟอร์มเมชัน เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับการ Maintenance เพราะถึงจะมีการวางระบบให้ทันสมัยมากแค่ไหน มีไลน์การผลิตที่เป็น IIoT มี ระบบ AI ระบบออโตเมชัน หุ่นยนต์ แต่ไม่ให้ความสำคัญกับการ Maintenance กระบวนการผลิตก็อาจจะสะดุด หยุดชะงัก ไปต่อไม่ได้อยู่ดี”

“นี่เป็นเหตุผลสำคัญ ว่าทำไม TGI จึงสนับสนุนและนำเสนอเทคโนโลยีในด้านของ Condition Based Maintenance การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ รวมถึง Smart Maintenance ให้กับผู้ประกอบการ เพราะในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่เป็นเซนเซอร์ หรือ IIoT ไปตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องจักร โดยแสดงผลเป็นกราฟ แล้วโชว์บนหน้าจอมอนิเตอร์ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานได้รู้ทันทีว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่การวางแผนเปลี่ยนอะไหล่ หรือ Spare part ได้ แบบอยู่ในแผนที่วางไว้ ซึ่งจะดีกว่าการที่เราไม่ให้ความสำคัญกับการมอนิเตอร์ตรงนี้ แล้วอยู่ดีๆเครื่องจักรเสียแน่นอน”
“ในช่วงปีแรกๆ ที่จัดงานนี้ขึ้น TGI มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องของ Condition Based Maintenance การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ให้กับผู้ประกอบการได้เริ่มตระหนักถึงเรื่องของงานบำรุงรักษา และในทุกปี เราก็ได้รับกระแสตอบรับจากผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะงานบำรุงรักษา หรือ Maintenance เป็นงานที่เป็นภาคส่วนสำคัญของทุกโรงงาน”
“โดยงานในปีนี้จัดขึ้น 2 วัน เน้นการถ่ายทอดเทคโนโลยีขั้นสูงให้กับผู้ประกอบการ ผู้ที่มาเข้าร่วมจะได้รับประโยชน์ใน 2 ส่วน หนึ่ง คือ ได้รับโอกาสในเรื่องของ Business Matching เป็นการมาเจอกันของผู้ขายและผู้ที่ต้องการจะซื้อ แล้วทำให้เกิด Business ที่ต่อยอดได้ ส่วนที่สอง คือ ผู้เข้ามาร่วมงานก็จะได้รับองค์ความรู้ ก็จะได้ Upskill & Reskill ในเทคโนโลยีสมัยใหม่เกี่ยวกับงานซ่อมบำรุงขั้นสูงด้วย”
“ทั้งนี้ ธีมงานในปีนี้ เรากำหนดไว้ว่า “Keep it Simple” เนื่องจาก TGI ต้องการจะสื่อสารว่าการบำรุงรักษาเป็นเรื่องง่าย อย่าไปคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะในยุคนี้เราสามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ จากเดิมที่เราต้องอาศัยประสบการณ์คนทำงานด้านนี้มาประเมินหรือตรวจสอบเครื่องจักรเป็นหลักเท่านั้น ปีนี้เราจึงตั้งใจนำเสนอธีมนี้ เพื่อให้ทุกภาคอุตสาหกรรมหันมาตระหนักในเรื่อง งานบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ และใช้เทคโนโลยีการบำรุงรักษาขั้นสูงกันมากขึ้น”
“ทั้งนี้ ไฮไลต์ของการจัดงานในปีนี้ จะเน้นไปที่ Maintenance Management ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรในระดับ Manager ที่ทำงานในโรงงานเกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษา ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานนี้ก็จะได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆที่ครอบคลุมในเรื่องของงานบำรุงรักษาทั้งหมด”
“ไม่ว่าจะเป็น แพลตฟอร์ม IIoT หรือ Infrastructure ที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนได้ โดยในปีนี้มีข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการทุกคน คือ อุปกรณ์ที่ใช้ในงานบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ที่มีราคาถูกลง และมีอุปกรณ์เซนเซอร์ที่มีให้เลือกหลายรูปแบบมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีผู้ประกอบการมาจัดแสดงและให้ข้อมูลในงานอย่างครบถ้วน”
ลงทะเบียนเข้าร่วมงาน CBM Day 2023 ที่นี่ >>https://register.cbmthailand.com/
ที่มา : https://www.salika.co/2023/05/30/cbm-2023-condition-based-maintenance-tgi/